การเห็นสมณะ

คำว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ มีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ
สงบกาย สำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยามารยาทตามหลักศีลธรรม
สงบวาจา พูดจาให้สุภาพ มีความสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้
สงบใจ ทำใจให้สงบ ปราศจากกิเลสครอบงำ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา
การได้เห็นสมณะ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
เห็นด้วยตา เห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเองแล้วมีความประทับใจ
เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโน้มน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี
เห็นด้วยปัญญา ใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาในการรับรู้ถึงคำสอนของสมณะ และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นแล้วต้องปฏิบัติตนดังนี้
เข้าไปหา ไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน
เข้าไปบำรุงช่วยเหลือ ในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน
เข้าไปฟัง รับฟังหลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต
หมั่นระลึกถึงท่าน ระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง
รับฟังแล้วปฏิบัติ รับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล
เหตุที่อยากให้สมณะหรือพระผู้มีศีลไปเยี่ยมบ้านนั้น เพราะว่า เมื่อสมณะหรือพระผู้มีศีลบริสุทธิ์เข้าสู่สกุลใด คนทั้งหลายในสกุลนั้นย่อมได้บุญมาก คือ
จิตย่อมเลื่อมใส เพราะได้เห็นสมณะ เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์
ย่อมพากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่สมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลที่สูงขึ้น
ย่อมกำจัดมลทิน คือความตระหนี่เสียได้ ในสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันยิ่งใหญ่
ย่อมแจกจ่ายทาน ตามสติกำลังในสมณะผู้เข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคะใหญ่
ย่อมไต่ถาม สอบสวนฟังธรรมจากสมณะซึ่งเข้าสู่สกุลเป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่
อานิสงส์การเห็นสมณะ คือ ได้สติคิดถึงบุญกุศล เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน ดวงตาแจ่มใสดุจแก้วมณี เป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง ได้สมบัติ 3 คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ โดยง่าย บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
รองเจ้าคณะภาค ๑๔