คนว่าง่าย

คนว่าง่าย มีลักษณะดังนี้ คือ
ไม่พูดกลบเกลื่อน เมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน รับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน นำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ
ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาดเนื่องจากความประมาท ควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม
เคารพต่อคำสอนและผู้สอน รู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ
มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แสดงความถือตัวว่า อยู่เหนือผู้อื่นในสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี
มีความยินดีต่อคำสอน ยอมรับในคำสอนนั้นๆ ด้วยความยินดี เช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว
ไม่ดื้อรั้นไม่อวดดี ทั้งที่ตัวเองนั้นผิดแต่ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อเสียง
ไม่ขัดแย้ง ในการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนในสิ่งที่ตรงข้ามกันกับที่เราทำอยู่แล้ว ต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ขัดแย้งต่อคำสอนคำวิจารณ์นั้นๆ
ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา ยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา
มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน ไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น
วิธีทำให้เป็นคนว่าง่าย ทำได้ง่ายๆ คือ ลดมานะ คือการถือตัวเสีย ลดความสำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ลง เช่น ถือว่าตัวมีการศึกษาดีกว่า เก่งกว่า มีฐานะดีกว่า ลดทิฏฐิ คือไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามีเราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่างๆ มีสัมมาทิฏฐิคือมีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ 4 เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
ยกตัวอย่างเรื่องพระราธะซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ ท่านเป็นคนว่าง่ายปฏิบัติตามที่พระสารีบุตรเถระคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เนือง ๆ แนะนำสั่งสอนตักเตือนอย่างไร ก็ปฏิบัติตามแต่โดยดี ไม่เคยโกรธเคืองเลย
พระบรมศาสดา ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาพระราธะเป็นแบบอย่างในการเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และทรงยกย่องพระราธะในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ว่าง่าย และ ผู้มีปฏิภาณ คือ เป็นผู้มีความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา
อานิสงส์การเป็นคนว่าง่าย คือ เป็นที่เมตตาอยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย ได้รับโอวาทคำสอน ได้ธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตน ละโทษทั้งปวงได้ บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย
บุคคลควรเห็นผู้มีปัญญา ที่คอยกล่าวตักเตือน ชี้โทษของเราให้เห็น ว่าเป็นดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ควรคบกับบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อคบแล้ว ย่อมมีแต่ดีฝ่ายเดียว ไม่มีเลวเลย หรืออีกในหนึ่งที่มักจะพูดกันว่า คบคนพาลพาลหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาหาผล

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

รองเจ้าคณะภาค ๑๔