อานิสงส์การรักษาศีล

ศีล หมายถึง การงดเว้นจากการประพฤติผิดทางกายและวาจา การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย กล่าวคือไม่ทำผิด ไม่พูดผิด ส่วนประเภทของศีลจำแนกตามผู้ปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
ศีล 5 ศีล 8 หรือศีลอุโบสถ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์
ศีล 10 เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร และศีล 227 เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ
ศีลเกิดขึ้นได้ เพราะมีเจตนางดเว้น 3 ประการ คือ
1) งดเว้นได้ในขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แม้ไม่ได้ตั้งใจจะรักษาศีลในเบื้องต้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เช่น เห็นเขากำลังเล่นการพนันอยู่ เมื่อถูกชักชวน ก็ไม่ยอมทำตาม หรือเห็นเงินตกอยู่โดยไม่มีเจ้าของ ถึงอยากได้ แต่ไม่ยอมถือเอาด้วยอาการขโมย เพราะเกรงจะผิดศีล
2) งดเว้นด้วยการรับแล้วนำไปปฏิบัติ เช่น รับศีล 5 แล้วมีความตั้งใจรักษาโดยไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่นให้ทุกข์ทรมานเดือดร้อน เป็นต้น
3) งดเว้นได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป
ผู้นำทุกระดับ หากไม่รักษาศีล ย่อมประพฤติทุจริต เป็นคนชั่วร้าย ปราศจากเมตตากรุณา ผู้ตามหรือผู้อยู่ในปกครองต้องเดือนร้อน เพราะความไม่ยุติธรรม ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตและในหน้าที่การงาน เพราะฉะนั้น ศีล จึงเป็นพื้นฐานของคนดี สำหรับผู้อยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้รู้จักรักษาความดี เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน มีความไว้วางใจกันและกัน
การรักษาศีลโดยเฉพาะศีล 5 นั้น เป็นหลักประกันความมั่นคงของสังคม และเป็นหลักประกัน มิให้เกิดความเสียหาย เพราะว่า
ศีลข้อที่ 1 เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ หรืองดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่นให้ทุกข์ทรมาน ศีลข้อนี้ ป้องกันรักษาชีวิตของสรรพสัตว์ มิให้เบียดเบียนกัน เพราะความโหดร้าย
ศีลข้อที่ 2 เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ ศีลข้อนี้ ป้องกันทรัพย์สินของบุคคลและประเทศชาติ ควบคุมมิให้มีการลัก การปล้น เป็นต้น เพราะใจอยากได้
ศีลข้อที่ 3 เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจของความใคร่ในกามารมณ์ รู้จักเคารพสิทธิกัน ศีลข้อนี้ ป้องกันครอบครัวมิให้แตกแยก เพราะมากรัก ไม่รู้จักพอ
ศีลข้อที่ 4 เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ ให้ระวังวาจาของตน มีสัจจะต่อกัน ศีลข้อนี้ ป้องกันการหลอกลวงกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน อันเป็นเหตุให้เกิดความไว้วางใจกัน
ศีลข้อที่ 5 เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาและเสพสิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิด เช่น สุราเมรัย เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ศีลข้อนี้ ป้องกันสุขภาพร่างกายและจิตใจมิให้เสื่อมโทรม ป้องกันมิให้ดำเนินชีวิตผิดพลาด ประมาท และมัวเมา

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

รองเจ้าคณะภาค ๑๔