บูชาคนที่ควรบูชา

การบูชา คือ การแสดงความเคารพต่อบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใสศรัทธา
การบูชา มี 2 ประเภท คือ

  1. อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การให้เงินหรือมอบวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่สมควรให้แก่มารดาบิดา เป็นต้น หรือนำดอกไม้ ธูปเทียนของหอมไปบูชาพระรัตนตรัย
  2. ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติดูแลมารดาบิดาผู้มีพระคุณทั้งหลาย รักษาศีล ปฏิบัติพระกรรมฐาน เจริญสมาธิภาวนา ฝึกจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมตามสภาพความเป็นจริง ละความโลภ โกรธ หลงได้อย่างสิ้นเชิง
    บุคคลที่ควรเคารพบูชา มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า (พระอรหันต์ที่ตรัสรู้เฉพาะตนเอง สั่งสอนธรรมให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เกิดขึ้นในสมัยที่ว่างจากพระพุทธศาสนา) พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม มารดาบิดา ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในคุณธรรม
    วิธีการบูชาที่ใช้กันมากคือการกราบไหว้ ซึ่งผู้ที่กราบนั้นต้องศึกษามีความรู้ความเข้าใจเสียก่อน ไม่ใช่เห็นเขากราบก็กราบตาม เห็นเขาไหว้ก็ไหว้ตาม โดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง การกราบอย่างนี้ได้ประโยชน์น้อย เมื่อยมือเปล่าๆ เช่น กราบพระแล้วขอในสิ่งไม่สมควรจะขอ อย่างนี้เรียกว่ากราบอย่างงมงาย
    การกราบพระต้องยึดถือเอาหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น
    กราบครั้งที่ 1 ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณาเห็นทุกข์ และคิดค้นหาวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ ได้ทรงศึกษาพระธรรมและฝึกฝนอบรมจิตมาอย่างดี จึงมีใจใสสว่าง สามารถตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณได้ ไม่มีอาสวะกิเลส
    กราบครั้งที่ 2 ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมาอย่างบริบูรณ์ ไม่เคยให้ร้ายแก่ใคร เป็นตัวอย่างในการรักษาศีลได้เป็นอย่างดี
    กราบครั้งที่ 3 ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญทาน และช่วยเหลือสัตว์โลกมานับภพไม่ถ้วนจึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ
    การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นการทำความเห็นถูกที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ทำให้มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะระลึกถึงกุศลธรรมอยู่เสมอ ทำให้สติปัญญาบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวัง เป็นการป้องกันความประมาท ช่วยป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะระลึกอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าตนยังมีอยู่ ทำให้เกิดมีกำลังใจมีศรัทธามากขึ้น สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยต่างๆ จากเหล่าคนพาลได้

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

รองเจ้าคณะภาค ๑๔