พอเพียง

ทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนแต่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ และจะต้องหาวิธีแก้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องกิน การทำงาน การครองชีวิต ชีวิตที่ดีที่สุด คือชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้


การดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบ เรียบง่าย ควบคุมตัวเองไม่ให้ตกเป็นทาสความอยากมากจนเกินไป นั่นคือ ความรู้จักพอ เพราะเห็นว่ามนุษย์เรานั้นส่วนมากเป็นพวกวัตถุนิยม คือนิยมเรื่องวัตถุฟุ่มเฟือย และนิยมความมีเกียรติ ชื่อเสียง


ถ้าใครมีวัตถุนิยมนี้มากจะรู้สึกว่ามีความสุข ส่วนคนที่ไม่มี จะรู้สึกว่าไม่เป็นสุข หรือรู้สึกเบื่อหน่าย ชีวิตจึงมีแต่ความวุ่นวาย กระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยมาสนองความต้องการ ขาดความพอดีในชีวิต


คนที่ไม่รู้จักพอ เมื่อพบอะไรก็ไขว่คว้าเรื่อยไป โดยไม่นึกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่แท้จริง ขอให้ได้ไว้ก่อน ขาดการควบคุมใจตน ก่อเวรให้แก่ตนและคนอื่น ก่อปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมอยู่ร่ำไป ทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไม่สิ้นสุด


ในการแสวงหาปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตนั้น จะต้องใช้กำลัง ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา


ผู้ที่มีกำลังหรือมีความรู้ความสามารถน้อย ย่อมหาได้น้อย แต่ความต้องการในสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ของคนเรามีปริมาณเท่ากัน เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีจำกัด จึงเกิดปัญหาว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถหาได้มาก เก็บไว้ได้มาก อีกฝ่ายหนึ่งหาได้น้อย หรือไม่สามารถหาได้เลย ความขาดแคลนของฝ่ายหลังนี้จึงเกิดขึ้น


เมื่อมีความต้องการปัจจัย จะต้องดิ้นรนแสวงหาเพิ่มขึ้น ครั้นหาได้ไม่พอเท่าที่ต้องการ จึงหันมาแสวงหาในทางที่ได้ง่ายๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ อาศัยเพียงความกล้าและโอกาสอำนวยเท่านั้น นั่นก็คือ การแสวงหาในทางทุจริต ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการแสวงหาที่ผิด


ส่วนผู้ที่มีความสามารถ แม้จะได้ปัจจัยมามากพอที่จะเลี้ยงตัวแล้ว ก็ยังนำมาเก็บสะสมไว้ หรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายจนเกินจำเป็น และใช้ความสามารถนั้นแสวงหาอยู่ร่ำไป ไม่รู้จักคำว่า พอเพียง ทำให้อยากได้อยู่เรื่อยไป จนไม่สามารถจะควบคุมใจไว้ได้ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ


พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เหมาะกับคนในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ ความรู้จักพอ ในขอบเขตที่เหมาะสมแก่ภาวะและฐานะของตน คือ
1.ยินดีตามมีตามได้ คือ มีแค่ไหน เป็นอยู่อย่างไรก็พอใจเท่านั้น ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเป็นอยู่
2.ยินดีตามกำลัง มีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย ทรัพย์ หรือกำลังความสามารถที่พอจะเป็นไปได้
3.ยินดีตามควร รวมถึงความพอเหมาะพอควรในสติปัญญา ฐานะ หน้าที่ของตนที่มีอยู่
การมีความพอเพียง สามารถตัดความกังวลต่างๆ ได้ มีความสบายกายสบายใจ พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่ดีก็ไม่ฝ่าฝืนทำ นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน มีโอกาสกระทำแต่สิ่งดีๆ ยิ่งขึ้นไป

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

รองเจ้าคณะภาค ๑๔