พหูสูต คือ ผู้ที่ได้ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ มีความชำนาญ
ลักษณะของผู้เป็นพหูสูต คือการรู้ในสิ่งนั้น เรื่องนั้น อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุมอย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่ามีความชำนาญ
รู้รอบ คือการรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อม
รู้กว้าง คือการรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กัน
รู้ไกล คือการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคต เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้เป็นพหูสูต ตั้งใจฟัง คือชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้และค้นคว้า ตั้งใจจดจำ คือรู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้นๆ และจับใจความให้ได้ ตั้งใจท่อง คือท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่หลงลืมในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ตั้งใจพิจารณา คือการรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง เข้าใจในปัญหา คือการรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา
การฝึกตนให้เป็นพหูสูต ทำได้โดยฉลาดเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ควร ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกแล้วอย่างเต็มความสามารถ มีความขวนขวายที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ต้องหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป เมื่อเรียนแล้วก็จดจำไว้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ได้ทันที
อุปสรรคในการเป็นพหูสูต คือ
- คนรักสวยงามพิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่แต่งตัว จนไม่มีเวลาท่องบ่นค้นคว้าหาความรู้
- คนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาท มัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตรอง
- คนสะเพร่า หลงลืมมักง่าย ทำอะไรไม่พยายามเอาดี ทำสักแต่ให้เสร็จ สติไม่มั่นคง
- คนที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม
- คนบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่าสำคัญกว่าความรู้ ทำให้ไม่ขวนขวายในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร
- คนจับจด คือคนที่ทำอะไรเหยาะแหยะไม่เอาจริง
- นักเลงสุรา พวกขี้เมา ขาดสติ หมดโอกาสที่จะเรียนรู้
- คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก ชอบเอิกเกริกสนุกสนานเฮฮาจนเกินเหตุ ขาดความรับผิดชอบ
คนที่เป็นพหูสูต สามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ มีความเป็นผู้นำ แกล้วกล้าองอาจในที่ทุกสถาน สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้รับคำชมเชย การยกย่องเกรงใจ เป็นผู้มีปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่นๆ ต่อไป
ถ้าคนมีสุตะมาก ตั้งอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาโดยส่วนสอง คือทั้งโดยศีล ทั้งโดยสุตะ ใครเล่าควรจะติเตียนบุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวก ผู้เป็นดุจแท่งทองชมพูนุทนั้นได้ แม้เหล่าเทพเจ้าก็ย่อมชมเชย ถึงพรหมก็ยังสรรเสริญ การสนใจ ไขว่คว้า หาความรู้ ให้เป็นผู้คงแก่เรียน เพียรศึกษา มีศีลดี สติมั่น เกิดปัญญา ย่อมนำพาตัวรอด เป็นยอดดีได้
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
รองเจ้าคณะภาค ๑๔